“อลงกรณ์” สนใจ! นโยบาย ค่าแรง 600 บ. หลังปีใหม่ ชู ขึ้นค่าจ้างเกษตรกร แรงงานสู้

“อลงกรณ์” ชี้อย่าปรามาสนโยบายเพื่อไทย ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท เผยหลังปีใหม่ ประชาธิปัตย์จ่อเปิดนโยบายค่าจ้างเกษตรกร-แรงงาน ด้วยแนวคิดใหม่ และแผนเพิ่มศักยภาพประเทศ “ราเมศ” ย้ำจุดยืน เดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์     

วันที่ 10 ธ.ค.2565 นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง กรณีที่ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย ประกาศนโยบาย ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 600 บาทต่อวัน และกำหนดเงินเดือนสำหรับผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรี 25,000 บาท ในอีก 5 ปีข้างหน้า คือปี 2570 เป็นส่วนหนึ่งของ 10 นโยบายพลิกฟื้นประเทศนั้น เห็นว่าเป็นการนำเสนอนโยบายที่น่าสนใจ และไม่ควรปรามาสก่อนศึกษาอย่างรอบด้าน รวมทั้งไม่ควรคัดค้านหรือดิสเครดิตกัน เพราะคนเสนอเป็นคู่แข่งทางการเมือง

ทั้งนี้โดยส่วนตัว ตนชอบคิดนโยบายใหม่ๆ และนวัตกรรมการบริหารนโยบายด้วยกลไกและวิธีการใหม่ๆ ดังนั้น เมื่อรับรู้นโยบายดังกล่าวของพรรคเพื่อไทย ก็สนใจอย่างมาก ที่จะนำเสนอนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ มาประชันกันแบบการเมืองวิถีใหม่ นอกจากนี้ ขอฝากถึงพรรคเพื่อไทยว่า หลังปีใหม่ขอให้ติดตามชุดนโยบายพิมพ์เขียวประชาธิปัตย์ (Blueprint for Change) โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายค่าจ้างเงินเดือน รายได้สำหรับเกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน และพนักงานทั้งระบบด้วยแนวคิดใหม่ แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังวิกฤติโควิด-19 และแผนอัพเกรดศักยภาพประเทศไทยด้วยโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจคท์) และโมเดลเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่ไม่ใช่มีแค่ระบบทุนนิยมดั้งเดิมทางด้าน นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า เนื่องในวันรัฐธรรมนูญ พรรคประชาธิปัตย์ขอร่วมระลึกถึงการมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกของประเทศไทย เป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญให้แก่ประชาชนชาวไทย เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2475 ดังนั้นในวันที่ 10 ธ.ค. ของทุกปี ถือว่ามีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์ ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ต้องยอมรับว่ายังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง และมีความจำเป็นต้องแสวงหาความเห็นพ้องต้องกันจากหลายฝ่าย แต่ยังมีอุปสรรคในการขอแก้รัฐธรรมนูญ จึงทำให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ไม่สำเร็จสู่เป้าหมายได้

พรรคประชาธิปัตย์มีเจตนารมณ์อย่างชัดเจนในการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งหัวใจสำคัญของการนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ คือการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อให้สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ง่ายขึ้น โดยตัดสัดส่วนของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้เหมาะสม แล้วใช้เสียงส่วนใหญ่จากสภา เพราะหากกำหนดให้ ส.ว. เห็นชอบด้วย ในวาระที่ 1 และที่ 3 เป็นจำนวน 1 ใน 3 ทำให้ต้องได้รับความเห็นชอบเป็นจำนวน 84 คน จึงยากที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในสาระสำคัญได้ ดังนั้น การแก้ไขมาตรา 256 จึงมีความสำคัญมาก และพรรคฯ ยังตั้งมั่นที่จะแก้ไขส่วนนี้ต่อไป นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้สิทธิของประชาชนลดลง และไม่ได้ป้องกันการโกง พรรคประชาธิปัตย์จึงเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 6 ร่าง คือ ร่างฉบับที่ 1 เป็นการเพิ่มสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชน สิทธิผู้บริโภค สิทธิในที่ดินทำกิน, ร่างฉบับที่ 2 ตัดอำนาจของ ส.ว. ในการแก้รัฐธรรมนูญ, ร่างฉบับที่ 3 เพิ่มความเข้มข้นในกระบวนการตรวจสอบการทุจริต

ร่างฉบับที่ 4 แก้ไขที่มาของนายกรัฐมนตรี และยกเลิกอำนาจของ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรี ร่างฉบับที่ 5 เรื่องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น, ร่างฉบับที่ 6 แก้ไขระบบการเลือกตั้ง โดยปรับเปลี่ยนจำนวน ส.ส.เขตเป็น 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน รวมถึงให้มีบัตรลงคะแนนเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งในท้ายที่สุด ร่างแก้ไขที่พรรคฯ เสนอได้ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาเพียงฉบับเดียวคือ ฉบับที่ 6 อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องล้วนเป็นสาระสำคัญที่จะเป็นนโยบายหลักของพรรคประชาธิปัตย์ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่สมบูรณ์อย่างแท้จริง