รทสช. เล็งรื้อ กฎหมายอาญา ป้องกันเหยื่อ ปล้นร้านทอง ไม่ให้กลายเป็นคนผิด

“พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค”หน.พรรค รทสช. เล็งรื้อ กฎหมายอาญา คุ้มครองเหยื่อป้องกันตัวไม่ให้กลายเป็นคนผิด ยกกรณี กลุ่มคนร้ายบุกปล้นร้านทอง จ.ตาก เป็นตัวอย่าง ปม เจ้าของร้านถูกวิพากษ์วิจารณ์ ทำเกินกว่าเหตุ

วันที่ 10 ธ.ค.2565 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) แสดงความคิดเห็นหลังจากมีข้อถกเถียงในแง่กฎหมาย กรณี คนร้าย 4 คน บุกปล้นร้านทองที่ จ.ตาก กระทั่งถูกเจ้าของร้านทองใช้ปืนยิงสวนกลับทำให้คนร้ายบาดเจ็บสาหัส 1 ราย จับได้ 1 ราย และยังหลบหนีอีก 2 ราย ซึ่งมีการตั้งคำถามว่าเจ้าของร้านทองกระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นตัวอย่างของกฎหมายที่เห็นได้ชัดว่า ยังมีความบกพร่องอยู่ ซึ่งเป็นเรื่องของกฎหมายอาญา ที่ใช้กันมาเป็นเวลานาน เนื่องจากการออกกฎหมายตั้งแต่ต้นนั้น เป็นการกำหนดอยู่บนพื้นฐานของความเป็นกลาง โดยไม่ได้ระบุว่าใครผิดใครถูก ดังนั้นจึงเป็นการวางกฎเกณฑ์กติกาทั่วๆไป กรณีแบบนี้ในกฎหมายอาญากำหนดไว้ เป็นเรื่องการป้องกันตัว คือ อยู่บนพื้นฐานที่เกินกว่าเหตุไม่ได้ การป้องกันตัวต้องพอสมควรแก่เหตุ ประการที่สอง ต้องเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัว ซึ่งเป็นการวางหลักตามกรณีทั่วไป

นายพีระพันธุ์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันนี้สังคมเปลี่ยนไป หลายครั้งที่เราเป็นฝ่ายถูกกระทำ เราก็จะป้องกันตัว ในเวลาที่คนป้องกันตัวนั้น เราก็ไม่ได้คิดถึงเรื่องกฎหมาย โดยคิดแต่ว่าจะทำอย่างไรให้ตัวเองรอดจากสถานการณ์ แต่พอเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายแล้ว กลายเป็นป้องกันตัวเกินกว่าเหตุ อันตรายยังมาไม่ถึงตัวบ้าง และสิ่งที่ใช้ป้องกันเกินกว่า ฝั่งตรงข้ามบ้าง ในทางกฎหมายที่ผ่านมา จึงทำให้เป็นความผิด แต่มีโทษเบาลงเท่านั้น ซึ่งเห็นได้ชัดว่ากฎหมายยังมีช่องว่าง และ ข้อที่ควรจะแก้ไขให้เข้ากับสถานการณ์และยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ตอนนี้ถึงเวลาที่ควรจะมีกฎหมายมาให้ความเป็นธรรมกับการกระทำ ที่กระทำต่อการกระทำผิด ให้สามารถป้องกันได้ทุกรูปแบบ แต่อาจต้องมีรายละเอียดต่อไป โดยหลักการคือป้องกันได้ไม่ต้องมีความผิด

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า กรณีนี้ถือเป็นอุทธาหรณ์ ที่ตรงกับแนวคิดของพรรครวมไทยสร้างชาติ ในการแก้ไขกฎหมายที่ยังมีข้อบกพร่องหลายฉบับ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน “กฎหมายบอกว่า การป้องกันจะต้องป้องกันจากภยันอันตรายที่ใกล้จะถึง และต้องเป็นการป้องกันที่สมควรแก่เหตุ ผมยกตัวอย่างเช่น เขาถือมีดเข้ามา เราเอาปืนยิงเลย ศาลอาจจะมองว่าเกินกว่าเหตุ แต่ในขณะนั้นถ้าเราไม่ยิงเราอาจถูกแทงตายได้ เป็นต้น ควรต้องคำนึงด้วยว่าวันนั้น นาทีนั้นสถานการณ์เป็นอย่างไร มีดกับปืน นี่คือหลักกฎหมายที่ใช้กันมามานาน สังคมสมัยโน้น กับสมัยนี้มันต่างกัน ความซับซ้อนของสังคมก็ต่างกัน แต่ที่ผ่านมาเรายังไม่มีการปรับปรุงแก้ไข ก็เลยทำให้คนดีๆ ที่เป็นเหยื่อ กลายเป็นผู้กระทำความผิด” นายพีระพันธุ์กล่าว