ดร.ธงชัย จัดโครงการอิหม่ามสัญจร นำอิหม่ามพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับอิหม่ามทั้งจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำประสบการณ์และปัญหาสู่การพัฒนาองค์กรศาสนาอิสลาม ตอบสนองความต้องการของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ระหว่างวันที่ 2-3 ธันวาคม ดร.ธงชัย ปิติเศรษฐ ประธานมูลนิธิอัลอมานะห์เพื่อการศึกษาและพัฒนา พร้อมด้วยคณะอิหม่ามและผู้นำอิสลามจังหวัดสุราษฎร์ธานี ประมาณ 15 คน ได้เดินทางไปเยี่ยมอิหม่ามประจำมัสยิดในอำเภอเกาะสมุย เกาะพะงัน กาญจนดิษฐ์ และพุนพิน ตามโครงการ อิหม่ามสัญจรเพื่อการศึกษา แลกเปลี่ยน เรียนรู้ สู่การพัฒนา เพื่อนำประสบการณ์มาพัฒนาศักยภาพผู้นำอิสลามในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยที่อำเภอเกาะสมุย เดินทางไปที่มัสยิดนุรุลเอี๊ยะซาน และมัสยิดเร๊าะหฺมาตุ้ลอิสลาม (ใต้ขาม) โดยทั้ง 2 มัสยิดและคณะกรรมการมัสยิด ให้การต้อนรับและได้แลกเปลี่ยนข้อมูลแนวทางการพัฒนามัสยิดและการศึกษาอิสลามของเยาวชนในพื้นที่ ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคต่างๆในการพัฒนา
มัสยิดนุรูลเอี๊ยะซาน เป็นมัสยิดแห่งแรกของอำเภอเกาะสมุย ก่อตั้งมากว่า 100 ปี รองรับชุมชนมุสลิมที่เดินทางเข้ามาทำมาหากินในอำเภอเกาะสมุย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพี่น้องมุสลิมริมฝั่งทะเล จาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เดินทางมาหาออกทะเลหาปลา และเห็นว่า เกาะสมุยมีปลาชุกชุมเหมาะสำหรับการตั้งถิ่นฐาน จึงได้ปักหลักตั้งถิ่นฐานตั้งแต่เมื่อ 100 ปีก่อน ปัจจุบันมีมุสลิมในทะเบียนบ้านประมาณ 300 ครอบครัว และมุสลิมแฝง รวมประมาณ 2,000-3,000 คน มีโรงเรียนสอนจริยธรรมอิสลามใช้หลักสูตรตาดีกา ของมาเลเซีย ปัจจุบันมีนายมาหามะ เย็ง เป็นอิหม่ามประจำมัสยิด ส่วนมัสยิดเร๊าะหฺมาตุ้ลอิสลาม (ใต้ขาม) เป็นมัสยิดที่ก่อตั้งประมาณ 20-30 ปี รองรับมุสลิมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น มีนายนัทราพงษ์ ขุนพล เป็นอิหม่ามประจำมัสยิด
ส่วนที่เกาะพะงัน มีมัสยิดเพียงแห่งเดียว มัสยิดปูเลามาลายู เป็นมัสยิดไม้ก่อสร้างเป็นหลังที่ 3 อายุมากกว่า 100 ปี มุสลิมที่เกาะพะงันมีประมาณ 80 ครัวเรือน ประมาณ 200-300 คน ส่วนใหญ่มาจากท้องที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อปักหลักทำสวนที่เกาะพะงันนับ 200 ปี แต่ด้วยความห่างไกลและความยากลำบากในการเดินทางในอดีต ส่วนหนึ่งได้โยกย้ายไปอยู่พื้นที่อื่น จึงเหลือมุสลิมที่เกาะพะงันจำนวนไม่มากนัก ปัจจุบันมัสยิดปูเลามาลายู นายหาเสน บุหลัน เป็นอิหม่ามประจำมัสยิด
ในการพบปะแต่ละแห่ง บรรดาอิหม่ามได้สะท้อนแนวทางการพัฒนามัสยิด การเรียนการสอนจริยธรรมแก่เยาวชนในพื้นที่ ซึ่งบางแห่งก็มีปัญหาการขาดแคลนครู ขาดแคลนงบประมาณครู แต่บางแห่งก็มีระบบการบริหารจัดการที่ดี เยาวชนได้มีโอกาสได้ศึกษาเล่าเรียนได้เป็นอย่างดี มีการประสานงานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้เป็นอย่างดี ปัญหาที่ดินของมัสยิด เป็นต้น
ดร.ธงชัย กล่าวในระหว่างพบปะกับอิหม่ามในแต่ละมัสยิดว่า ส่วนตัวเป็นคนสุราษฎร์ฯโดยกำเนิด เกิดที่พุมเรียง อ.ไชยา แต่ไปเติบโตและทำธุรกิจที่กรุงเทพมหานคร ก่อนหน้านี้ได้ลงมาพุมเรียงบ้างเป็นครั้งคราว มาสร้างมัสยิด มาร่วมทำบุญช่วยเหลือสังคม สนัลสนุนการก่อตั้งกลุ่ม ก่อตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้เจ็บป่วย ครูสอนศาสนา จนได้ก่อตั้งมูลนิธิอัลอมานะห์ฯขึ้นมา เพื่อสนับสนุนเงินเดือนครูสอนศาสนา
‘การเรียนอัลกุรอ่าน เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมุสลิม บางคนไม่มีโอกาสได้เรียนอัลกุรอ่าน ขาดการเรียรู้ศาสนา ทำให้เดินไปในทางที่ไม่ถูกต้อง ส่วนตัวได้มีโอกาสเรียนอุลกุรอ่านจนจบ เป็นสิ่งนำทางในชีวิต แม้ไม่ได้เรียนจบศาสนา แต่ก็ได้ศึกษา สอบถามจากผู้รู้ เพื่อให้การปฏิบัติตัวถูกต้อง เมื่อได้ลงมาสุราษฎร์ฯ บรรดาพี่น้องอิหม่ามก็ชักชวนให้เข้ามาร่วมพัฒนาองค์กรศาสนาของจังหวัด ที่เห็นว่า ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมมุสลิมได้เท่าที่ควร แม้ส่วนตัวไม่ได้มีเป้าหมายต้องการตำแหน่วทางศาสนา แต่ด้วยเห็นแก่ส่วนรวม อนาคตของเยาวชนที่จะต้องมีศาสนานำทาง จึงได้รับปาก แต่อิหม่ามทุกคนคือผู้นำ ที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ผมแค่เข้ามาบริหารให้องค์กรมีทิศทางที่ดี เพื่อสังคมอย่างจริง เป็นสิ่งที่ต้องการจะทำในบั้นปลายของชีวิต สะสมบุญไว้เพื่อโลกหน้า ไม่ได้มีผลประโยชน์อะไร เพราะมีเพียงพออยู่แล้ว’ ดร.ธงชัย กล่าว
สำหรับโครงการ อิหม่ามสัญจรเพื่อการศึกษา แลกเปลี่ยน เรียนรู้ สู่การพัฒนา ดร.ธงชัย มีแผนที่จะเข้าพบปะพูดคุยกับอิหม่ามทุกมัสยิดในจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้ง การนำอิหม่ามไปศึกษาเรียนรู้นอกพื้นที่ เพื่อพัฒนาตนเอง การสร้างเสริมบุคลิกภาพให้โดดเด่น เป็นตัวอย่างของชุมชนและจังหวัดสุราษฎร์ธานี