จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รมว.พาณิชย์ เผย ส่งออกภาพรวม 10 เดือน มีมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 9.1% ปัจจัย เงินบาทอ่อนค่า เชื่อทั้งปีส่งออกเกินเป้า
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกไทยในเดือนตุลาคม 2565 ว่า ขยายตัวติดลบครั้งแรกในรอบ 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนมกราคม ที่ 4.4% หรือมูลค่า 21,772.4 ล้านดอลลาร์ หรือเงินบาทมีมูลค่า 801,273 ล้านบาท โดยเดือนตุลาคม กลุ่มสินค้าเกษตรติดลบ4.3% สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ติดลบ2.3% และสินค้าอุตสาหกรรมติดลบ3.5% ส่วนการนำเข้าติดลบ2.1% มูลค่า 22,368.8 ล้านดอลลาร์และดุลการค้าติดลบ 596.4 ล้านดอลลาร์
ขณะที่ภาพรวม 10เดือน (มกราคม-ตุลาคม) การส่งออกไทยยังขยายตัว 9.1% โดยมีมูลค่า 243,138.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือเป็นบาทมีมูลค่า 8,325,091 ล้านบาท การนำเข้าขยายตัว18.3% มูลค่า 258,719.8 ล้านดอลลาร์
สำหรับปัจจัยบวกที่หนุนการส่งออกคือ ค่าเงินบาทที่ยังอ่อนตัวอยู่มีส่วนช่วยหนุนการส่งออก เศรษฐกิจคู่ค้าบางประเทศ ประเทศไทยมีตลาดใหม่ๆ ที่ยังขยายตัวได้ดีอยู่หลายตลาด เช่น ซาอุดีอาระเบีย ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่สามารถทำตัวเลขได้ดีอยู่ในปัจจุบัน และรวมไปถึงตลาดตะวันออกกลาง ตลาดออสเตรเลีย และตลาดสหราชอาณาจักร เป็นต้น
ส่วนปัจจัยลบที่มีส่วนสำคัญกับตัวเลขส่งออกถัดจากนี้ไปบางช่วงเวลา เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง โดยกระทรวงพาณิชย์ และเอกชนประเมินเห็นตรงกันว่าถัดจากนี้ไปเราต้องฟันฝ่าเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวตั้งแต่ปีนี้ จนถึงปีหน้า
ขณะที่การส่งออก 2 เดือนที่เหลือของปี (พ.ย.-ธ.ค.) ยังประเมินไม่ได้ แต่เชื่อว่าการส่งออกทั้งปี 2565 จะขยายตัวเกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4% ซึ่งเชื่อว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 1 เท่าตัว ส่วนมูลค่าในรูปเงินบาทตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 9 ล้านล้านบาท ที่มีแนวโน้มเกินกว่าที่ตั้งไว้
“ปัจจัยที่กระทบส่งออกมาเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวลง จากการใช้นโยบายการเงินตึงตัวเพื่อคุมอัตราเงินเฟ้อ ส่งผลต่อกำลังซื้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้บริโภค และจีนยังใช้มาตรการ Zero COVID เพื่อคุมโควิด-19 ส่งผลให้การส่งออกสินค้าหลายหมวดชะลอตัว รวมถึงแรงเสียดทานจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยกระทรวงพาณิชย์และเอกชนประเมินตรงกันว่าถัดจากนี้ต้องฟันฝ่าเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวตั้งแต่ปีนี้ถึงปีหน้า”
สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร พบว่าหดตัว 3.4% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน หดในรอบ 23 เดือน แต่มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี ได้แก่ ข้าว ขยายตัว 2.8% ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน โดยขยายตัวในตลาดอิรัก จีน แอฟริกาใต้ เซเนกัลและญี่ปุ่น
รวมถึงไก่สด แช่เย็น แช่แข็งและไก่แปรรูป บวก 38.0% ขยายตัวต่อเนื่อง 6 เดือน โดยขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์และมาเลเซีย
ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 26.3% ขยายตัวในตลาดจีน ไต้หวัน มาเลเซีย เกาหลีใต้และอินโดนีเซีย รวมถึงอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 0.9% ขยายตัวต่อเนื่อง 9 เดือน ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย ลิเบีย และเกาหลีใต้
ขณะที่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ยางพารา ติดลบ 28.5% หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐ ตุรกีและอินเดีย แต่ขยายตัวในตลาดเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น เยอรมนี โรมาเนียและโปแลนด์
ผลไม้สดและผลไม้แห้ง ติดลบ 34.9% หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน หดตัวในตลาดจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฮ่องกงและสหรัฐ แต่ขยายตัวในตลาดฟิลิปปินส์ เนเธอร์แลนด์ ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ และออสเตรเลีย
ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ติดลบ 11.3% หดตัวในรอบ 18 เดือน หดตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์และกัมพูชา แต่ขยายตัวในตลาดจีน รัสเซีย ไต้หวัน เกาหลีใต้และเมียนมา
ทั้งนี้ เมื่อรวม 10 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 12.0%
ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ติดลบ 3.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวในรอบ 20 เดือน แต่ยังมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 5.1% ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย เวียดนาม อินโดนีเซีย ซาอุดีอาระเบีย และนิวซีแลนด์
อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) เพิ่มขึ้น 5.4% ขยายตัวต่อเนื่อง 20 เดือน ขยายตัวในตลาดฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เบลเยียมและญี่ปุ่น
เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เติบโต 90.6% ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน ขยายตัวในตลาดสหรัฐ ญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฮ่องกงและเนเธอร์แลนด์
เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เติบโต 8.5% ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย เวียดนาม ไต้หวัน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และฝรั่งเศส
ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว อาทิ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ติดลบ 22.8% หดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน หดตัวในตลาดจีน เวียดนาม อินเดีย มาเลเซียและกัมพูชา แต่ขยายตัวในตลาดลาว
เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ ติดลบ 27.4% กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ แต่ขยายตัวในตลาดจีน ไต้หวัน ไอร์แลนด์ อินเดียและออสเตรเลีย
เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ติดลบ 13.1% หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน หดตัวในตลาดญี่ปุ่น อินโดนีเซีย อินเดีย เวียดนาม และจีน แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐ มาเลเซีย แคนาดา ลาว และกัมพูชา
ทั้งนี้ 10 เดือนแรกของปี 2565 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 7.8%
นอกจากนี้ แนวโน้มการส่งออกระยะถัดไป การส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ดำเนินการเชิงรุกและลึก เพื่อผลักดันและอำนวยความสะดวก การส่งออก โดยการดำเนินงานที่สำคัญในรอบเดือนที่ผ่านมา 3 แนวทาง คือ
1.การผลักดันไทยให้เป็นแหล่งผลิตและแปรรูปข้าวเพื่อส่งออก จากการที่อินเดียเริ่มขึ้นภาษีการส่งออกข้าว จะเป็นช่องทางให้ไทยหาตลาดทดแทนตลาดอินเดีย ทั้งตลาดอินโดนีเซียหรือตลาดแอฟริกา
“การเร่งหาตลาดเคมีภัณฑ์เม็ดพลาสติกและตลาดข้าว มีความสำคัญและตลาดผลิตภัณฑ์ยางพารา ต้องเร่งส่งเสริมเพิ่มมูลค่าการส่งออกและการผลิต เช่นส่งเสริมการแปรรูปการทำยางล้อ จูงใจใช้ยางธรรมชาติมากขึ้น เร่งรักษาตลาดยานยนต์ของไทย จะมีการนำคณะร่วมงานยานยนต์ระดับโลกจับมือกับเอกชนเดินหน้าต่อไป”
2.การหารือทวิภาคี กับรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเศรษฐกิจการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น เพื่อจับคู่เครือข่ายภาครัฐและเอกชนตามแนวคิด Co-create Vision เพื่อลงทุนซื้อขายสินค้าและบริการ การบริหารซัพพลายเชนร่วมกัน รวมถึงการส่งเสริมแนวทางเศรษฐกิจ BCG หรือ Green Economy นอกจากนี้ ไทยยังได้ขอให้ญี่ปุ่นเข้ามามีบทบาทให้ความรู้เกี่ยวกับ กฎเกณฑ์กติกาในการส่งออกสินค้าเกษตรแก่ไทยด้วย เนื่องจากปัจจุบันไทยยังส่งออกสินค้าเกษตรต่ำกว่าโควตา ที่รัฐบาลญี่ปุ่นมอบให้อยู่มาก
3.มาตรการส่งเสริมการส่งออกปาล์มน้ำมันของไทย เพื่อรักษาสมดุลด้านราคาหลังอินโดนีเซียและมาเลเซียเร่งส่งออกน้ำมันปาล์มสู่ตลาดโลก ส่งผลให้ราคาปาล์มเริ่มปรับลดลง โดยเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) มีมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม และสนับสนุนการส่งออกกิโลกรัมละ 2 บาท เพื่อให้สามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้
“การส่งออกของไทยยังได้กรอบเป้าหมาย โดยมีปัจจัยหนุนจากต้นทุนด้านพลังงานที่เริ่มลดลง ค่าระวางเรือขนส่งสินค้าที่เข้าสู่สมดุล อุปทานชิปประมวลผลที่มีมากขึ้นเพียงพอต่อการผลิตสินค้าเทคโนโลยีเพื่อการส่งออก การขยายตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ส่งผลดีต่อมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว และเงินบาทที่ยังอ่อนค่า เมื่อเทียบกับคู่ค้าหลักของไทย แม้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการหดตัวของอุปสงค์ในคู่ค้าสำคัญ ความไม่แน่นอนที่เกิดจากนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และจีน รวมไปถึงความไม่สงบในสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามใกล้ชิด