ที่มา | ชื่อบ้านนามเมือง: ศิลปวัฒนธรรม ฉบับ มีนาคม 2544 |
---|---|
ผู้เขียน | ป.ศรีนาค, บางคอแหลม กรุงเทพฯ |
เผยแพร่ |
ชื่อบ้านนามเมืองจำนวนหนึ่งมนปริมณฑลของกรุงเทพมหานครปัจจุบัน หรือรอบเมืองบางกอกโบราณ เมื่อพยายามสอบสวนอย่างละเอียดมีความหมายในภาษามลายูและเข้ารูปกับสถานที่ ดังชื่อบ้านนามเมืองดังต่อไปนี้
บางคอแหลม
มาจากภาษามลายูว่า kolam ออกเสียงตาม Bahasa Melayu หรือภาษามลายูปัจจุบันที่ใช้ในประเทศมาเลเซียว่า โกลัม แปลว่า สระ, อ่างเก็บน้ำ (จืด)
บางโคล่
มาจากภาษามลายูว่า koléh ออกเสียงตามภาษามลายูปัจจุบันว่า โกและฮ์ แปลว่า แป้งสาคู ด้วยริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณนี้เคยมีการทำแป้งสาคู เพราะมีต้นสาคูมาก
บุคคโล
มาจากภาษามลายูสองคำ คือ bukat ออกเสียงว่า บูกัต แปลว่า (กระแสน้ำ) วน กับคำว่า lolok ออกเสียงว่า โลโลก แปลว่า (กระแสน้ำ) วน เป็นคำคู่ด้วยทั้งสองคำมีความหมายเดียวกัน bukatlolok ซึ่งออกเสียงว่า บูกัตโลโลก กร่อนเสียงเป็น บุคคโล ชื่อที่มีความหมายว่า เป็นที่มีกระแสน้ำวน ด้วยบริเวณนี้มีวัดบางน้ำชนกับคลองบางน้ำชนอยู่ให้เป็นประจักษ์พยาน
จระเข้บัว
มาจากคำคู่ระหว่างภาษาไทยกับภาษามลายู จระเข้สายพันธุ์บัวไม่มีในโลก แต่คำว่าบัวกร่อนมาจากคำว่า buaya ออกเสียงว่า บัวยา ในภาษามลายู
คำเรียกจระเข้ว่า buaya และ baya ในภาษามลายู ยังอาจเป็นที่มาของชื่อแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะคำว่า jayabaya ซึ่งออกเสียงว่า จายาบายา แปลว่า ชนะจระเข้ (jaya แปลว่าชัย, ชนะ) ชื่อบ้านนามเมืองของชาติพันธุ์มลายูที่เกี่ยวข้องกับคำเรียกจระเข้มีจำนวนมาก เช่น เมืองใหญ่ที่ตั้งอยู่ปากแม่น้ำใหญ่ ชื่อเดียวกันบนเกาะชวากลาง ชื่อว่า surabaya ออกเสียงว่าสุราบายาแปลว่า ไม่กลัวจระเข้ (sura แปลว่า กล้าหาญ, ไม่กลัว)
แม้ว่าแม่น้ำใหญ่ทั้งสองอาจมีชื่อมีที่มาในทำนองคล้ายกัน แต่ไม่อาจนำไปสนับสนุนสมมติฐานเรื่องการอพยพของชนชาติไทย ว่ามาจากเกาะชวา ของนายแพทย์สมศักดิ์ พันธุ์สมบุญ ในการค้นควาเรื่องการอพยพของชนชาติไทยโดยการศึกษากลุ่มเลือด (A Bioserologigal Consideration of the Migration of the Thai Race) ซึ่งตีพิมพ์ใน Journal of the Siam Society, ฉบับที่ ๔๕ ตอนที่ ๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ หน้า ๖๕ เพราะชื่อบ้านนามเมืองที่มีที่มาจากภาษามลายูกระจัดกระจายไปทั่วทั้งสองฟากบนแหลมมลายูของประเทศไทย
หัวลำโพง
มาจากคำผสมระหว่างคำว่าขัว ในภาษาไทย ซึ่งแปลว่า สะพาน กับคำว่า lampung ในภาษามลายูออกเสียงว่าลำพุง แปลว่า ชั่วคราว, ลอยขัวลำพุงคือสะพานชั่วคราว (ทอดข้ามหรือลอยในลำน้ำ) กลายเป็นหัวลำโพง สะดวกการออกเสียงของคนไทยไปในที่สุด
ใกล้กับหัวลำโพงขึ้นไปทางทิศเหนือ มีชื่อถนนคลองลำปัก (เขียนตามป้ายชื่อถนนของกรุงเทพมหานคร) ซึ่งน่าจะชื่อว่าถนนคลองลำบัก เพราะลำบักมาจากภาษามลายูว่า lambak แปลว่า กอง (สิ่งของต่างๆ ฯลฯ) ส่วนคำว่าลำปักไม่มีในภาษามลายู
บางพลัด
มีที่มาจากภาษามลายูว่า palas ออกเสียงว่า ปาลัส คือ ต้นกะพ้อ เป็นพืชในสกุลปาล์ม ชอบขึ้นในที่ลุ่ม ใบใช้ทำขนมต้ม ขนมโบราณของไทยและชาติพันธุ์ละแวกนี้
ใกล้ๆ กับบางพลัดมีชื่อบางบำหรุ คำว่าบำหรุมาจากภาษามลายูว่า baruh ออกเสียงว่า บารุฮ์แปลว่า ที่ลุ่มใกล้แม่น้ำหรือทะเล สามเสนซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับบางพลัด มีที่มาจากภาษามลายูเช่นกัน
แม้แต่ชื่อบางกอก อาจมาจากคำในภาษามลายู beléngkok ออกเสียงว่า เบอแลงกอก แปลว่า คุ้งน้ำ ทั้งอาจเป็นที่มาของชื่อบางปะกอกได้ด้วย
ชื่อบ้านนามเมืองในปริมณฑลกรุงเทพมหานครอีกหลายแห่งที่อาจสันนิษฐานได้ว่ามาจากภาษามลายูไม่สามารถค้นหาได้ว่ามีมาแต่ครั้งใด
หากชื่อบ้านนามเมืองดังกล่าวมาจากภาษามลายูตามสันนิษฐานและรู้ถึงระยะเวลาการเกิดอาจทำให้เรื่องราวการกำเนิดราชอาณาจักรอยุธยากลุ่มรัฐสยามโบราณริมอ่าวไทย ขอบเขตอิทธิพลของศรีวิชัย ฯลฯ กระจ่างขึ้น